ความหมายและความสำคัญของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร



ความหมายและความสำคัญของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

ความหมายของเทคโนโลยีสารสนเทศ
                คำว่า  เทคโนโลยีสารสนเทศ  ประกอบคำ 2 คำ ได้แก่  เทคโนโลยี  และ สารสนเทศ ซึ่งแต่ละคำมีความหมายดังนี้
                เทคโนโลยี (Technology) เป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละตินว่า TEXERE  มีความหมายตรงกับภาษาอังกฤษว่า to weave แปลว่า สาน  เรียบเรียง ถักทอ ปะติดปะต่อ   และ construct แปลว่า  สร้าง  ผูกเรื่อง ความรู้สึกนึกคิดที่ก่อให้เกิด ส่วนเทคโนโลยี ในรากศัพท์ภาษากรีกมาจากคำว่า technologia แปลว่า การทำงานอย่างเป็นระบบ (systematic treatment) (วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม, 2539)
                คาร์เตอร์ วี กู๊ด (Good, 1973) ได้ให้ความหมายของเทคโนโลยีว่า หมายถึง การนำเอาวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในวงการต่าง ๆ โดยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น
                เอดการ์ เดล (Dale, 1965) กล่าวว่า เทคโนโลยีไม่ใช่เครื่องมือแต่เป็นแผนการ วิธีการทำงานอย่างเป็นระบบที่ให้ผลบรรลุตามแผนการ
                  ไฮนิช และ คนอื่น ๆ (Heinech and Others, 1989) ได้อธิบายว่าเทคโนโลยีจำแนกออกเป็น 3 ลักษณะ คือ
          1)  เทคโนโลยีในลักษณะของกระบวนการ(process) เป็นการใช้วิทยาศาสตร์และความรู้ต่าง ๆ ที่รวบรวมไว้อย่างเป็นระบบ เพื่อนำไปสู่ผลในทางปฏิบัติ โดยเชื่อว่าเป็นกระบวนการที่เชื่อและนำไปสู่การแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ 
         2)  เทคโนโลยีลักษณะของผลผลิต (product and product) หมายถึง วัสดุและอุปกรณ์ที่เป็นผลมาจากการใช้กระบวนการทางเทคโนโลยี  เช่น  ฟิล์มภาพยนตร์เป็นผลผลิตของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเช่นเดียวกับเครื่องฉาย ภาพยนตร์  หรือหนังสือเป็นผลผลิตของเทคโนโลยีเช่นเดียวกับแท่นพิมพ์หนังสือ  เป็นต้น
     3)  เทคโนโลยีลักษณะผสมของกระบวนการและผลผลิต (process and product) ซึ่งใช้ร่วมกันสองลักษณะ  เช่น  เทคโนโลยีช่วยให้ระบบการรับส่งข้อมูลเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้เป็นผลจากความก้าวหน้าของการประดิษฐ์วัสดุอุปกรณ์เพื่อการรับส่ง ข้อมูล  ตลอดจนเทคนิควิธีการต่าง ๆ เพื่อให้ระบบส่งข้อมูลเป็นไปได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็วและในลักษณะ ของกระบวนการซึ่งไม่สามารถแยกออกจากผลผลิตได้  เช่น  ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งมีการทำงานเป็นปฏิสัมพันธ์กันระหว่างตัวเครื่องกับ โปรแกรม เป็นต้น
                ชัยยงค์  พรหมวงศ์ (2520) ได้ให้ความหมายของเทคโนโลยีไว้ว่าตามรูปศัพท์ภาษาอังกฤษคำว่า  Technology  ซึ่งหมายถึงการปฏิบัติการ และสิ่งประดิษฐ์ที่อยู่ในรูปแบบของการจัดระบบงานอันประกอบด้วยองค์สาม  คือ
           1)  ข้อมูล ที่ใส่เข้าไป ได้แก่ การกำหนดปัญหาหรือความต้องการ  การตั้งวัตถุประสงค์  การรวบรวมข้อมูลหรือวัตถุดิบที่เกี่ยวข้องทุกแง่ทุกมุม
            2)  กระบวน การ  ได้แก่  การลงมือปฏิบัติการ  การแก้ปัญหา  การจำแนกแจกแจง  การวิเคราะห์และการสังเคราะห์ข้อมูล  เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุวัตถุประสงค์ 
           3)  ผลลัพธ์  คือ  ผลที่ได้จากการแก้ปัญหาหรือการดำเนินงาน  สามารถวัดและประเมินผลได้ นอกจากนี้ยังสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทุกขั้นตอน

ทัศนะเกี่ยวกับเทคโนโลยี
                จากความหมายของเทคโนโลยีดังกล่าวมาแล้วทำให้นักการศึกษามีทัศนะหรือความคิด เห็นเกี่ยวกับเทคโนโลยีแตกต่างกัน  โดยแบ่งออกเป็น 2 ทัศนะคือ
1.       ทัศนะด้านวิทยาศาสตร์กายภาพ (science technology) มุ่งเน้นการพัฒนาวัสดุอุปกรณ์ให้เจริญก้าวหน้าด้วยความรู้ด้านวิทยาศาสตร์  วิศวกรรมศาสตร์ เพื่อสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการดำเนินงานสาขาต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยทั่วไปวัสดุอุปกรณ์เทคโนโลยีมีองค์ประกอบสำคัญคือ เครื่องยนต์  กลไก ไฟฟ้า  อิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ตามเครื่องมือหรือวัสดุอุปกรณ์เหล่านี้นักการศึกษาให้ความเห็นว่า เป็นเทคโนโลยีประเภทเครื่องมือ (tools technology)
2.       ทัศนะด้านพฤติกรรมศาสตร์ (behavioral technology) เป็น เทคโนโลยีที่มุ่งเน้นกระบวนการคิดและการทำงานอย่างเป็นระบบ  โดยอาศัยการผสมผสานความรู้จากศาสตร์หลาย ๆ ด้านเข้าด้วยกัน เช่น มนุษยศาสตร์  จิตวิทยาสังคม  จิตวิทยาการเรียนการสอน ประวัติศาสตร์  เศรษฐศาสตร์  ฯลฯ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะสำคัญของแต่ละงาน  ในบางสถานการณ์อาจนำวัสดุอุปกรณ์เข้ามาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนิน งาน แต่เป็นเพียงเครื่องมือสนับสนุนเท่านั้น
                จากความหมายและลักษณะของเทคโนโลยีดังกล่ามาแล้วพอสรุปได้ว่า เทคโนโลยี หมายถึง วิธีการหรือกระบวนการในการนำความรู้สาขาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานมาประยุกต์ใช้อย่างเป็นระบบ  เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นการดำเนินงานที่มีระบบและวิธีการที่ก้าวหน้าจึงนิยมใช้คำว่า เทคโนโลยีนำหน้าเสมอ เช่น เทคโนโลยีการสื่อสาร  เทคโนโลยีการเกษตร เทคโนโลยีการศึกษา  เทคโนโลยีสารสนเทศ  เป็นต้น